ลักษณะของสังคมโลกปัจจุบัน


ลักษณะของสังคมโลกปัจจุบัน




        ในหนังสือชื่อ Megatrends: Ten New Directions Transforming Our Lives(ค.ศ. 1984)จอห์น แนสบิท (John Naisbitt) กล่าวถึงสังคมยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21มีลักษณะดังนี้

       1) เป็นสังคมข่าวสาร ในโลกปัจจุบันข้อมูลข่าวสารที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือผ่านสื่อต่างๆ จำนวนมากมายมหาศาล และกระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก

       2) มีการใช้เทคโนโลยีระดับสูง เทคโนโลยีระดับสูงเป็นผลต่อเนื่องจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงหลังสังคมอุตสาหกรรม จนทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ และความรู้เหล่านี้ได้รับประยุกต์ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกด้าน

       3) เปลี่ยนแปลงวิธีคิดระยะสั้นเป็นการวางแผนระยะยาว ในสังคมยุคใหม่หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ ต้องมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน กำหนดวิสัยทัศน์ ขอบเขต พันธกิจ และยุทธศาสตร์ทั้งระยะยาวและระยะสั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานของตน รวมทั้งสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ทุกขณะ

       4) เกิดการกระจายอำนาจ ในสังคมโลกยุคใหม่ อำนาจแท้จริงมิได้อยู่ที่การใช้กำลัง หรืออำนาจทางเศรษฐกิจตามลำพังอีกต่อไป แต่อำนาจแท้จริงอยู่ที่ความรู้ ดังที่กล่าวว่าสังคมปัจจุบันเป็นสังคมฐานความรู้ หรือระบบเศรษฐกิจฐานความรู้

       5) เน้นการพึ่งพาตนเองมากขึ้น ในขณะที่โลกยุคก่อน ประเทศมหาอำนาจ รัฐบาลกลาง หรือองค์การระหว่างประเทศ ทำหน้าที่พี่ใหญ่หรือผู้สั่งการ เกิดการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนและแต่ละประเทศ ในการดูแลตัวเอง

       6) เน้นระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยยุคใหม่เริ่มเคลื่อนไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น ในหลายประเทศการมีส่วนร่วมดังกล่าวมีลักษณะของการใช้มวลชนกดดันหรือเรียกร้องให้รัฐดำเนินการตามที่กลุ่มต้องการ จนเกิดการกระทบกระทั่งและความรุนแรง ซึ่งสะท้อนสภาวะการเสื่อมถอยของอำนาจรัฐ

       7) เกิดการจัดการที่เน้นเครือข่าย การทำงานในสังคมใหม่เน้นการแยกแยะหน้าที่เฉพาะส่วนและประสานกระบวนงานในลักษณะเครือข่าย ระบบงานแบบนี้เข้าแทนที่ระบบการทำงานครบวงจรของหน่วยงานแบบเดิม แต่ส่งเสริมให้แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตามที่ตนเองถนัดที่สุด และมีการบูรณาการงานในภาพรวม โดยแต่ละหน่วยเหล่านี้เป็นหน่วยงานเอกเทศ แต่ทำงานร่วมกันกับหน่วยงานอื่น

       8) ประเทศกลุ่มใต้ได้รับความสำคัญมากขึ้น เช่น แอฟริกาและละติอเมริกา กลับกลายมาเป็นประเทศที่มีความสำคัญมากขึ้น เพราะหากประเทศเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนไม่ว่าด้วยภัยธรรมชาติหรือภัยที่เกิดจากมนุษย์ ประเทศอื่นก็ต้องได้รับความเดือดร้อนตามไปด้วย จึงทำให้ประเทศเหล่านี้ได้รับการเหลียวแลมากกว่าเดิม

       9) เปิดช่องทางเลือกมากกว่าเดิม สังคมยุคใหม่เปิดทางเลือกต่างๆให้มากมาย อย่างน้อยพื้นที่ในการตัดสินใจ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในแต่ละประเทศอีกต่อไป แต่สามารถขยายไปยังพื้นที่อื่นๆบนผืนโลกได้ นอกจากนี้เทคโนโลยีได้ให้ทางเลือกในการดำเนินการมากกว่าที่เป็นอยู่มากมาย


ความคิดเห็น